วันนี้ได้ไปร่วมสัมนาของ ดร.บุญชัย โกศลธนากุล เจ้าของสถานับกวดวิชา Fast English ที่ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ "ศาสตร์ในการอ่านใจคน" ... ตอนแรกกะจะไม่ไปละ รู้สึกว่า นี่เราไปเรียนเป็นหมอดูป่าวเนี่ย ทำไมต้องอ่านใจคน แล้วถ้าเราอ่านใจคนได้ แล้วมันจะดีกับชีวิตอย่างไร ...แต่ด้วยความคะยั้นคะยอ(ผนวกกับได้รับปากรุ่นพี่ไว้ละ) ก็เลย ... ไปก็ได้วะ!!! ไหนๆ ก็เอามาเขียนแบ่งปันกันอ่านดีกว่า
ในโลกทุกวันนี้ คงไม่มีใครสามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ ทุกๆ คนต้องเจอกับผู้คนมากมายมากหน้าหลายตา คาดว่าทุกคนคงเกิดคำถามเหล่านี้ในใจ "เจ้านายกูไมโง่จังวะ ลูกน้องเราทำไมสั่งอะไรไม่เคยได้ดั่งใจ ทำไมไอ้คนนั้นมันนิสัยอย่างนี้วะ ทำไมคนนู้นไม่เปนอย่างนั้น ทำไมคนนั้นไม่เป็นอย่างนี้ บลาๆๆๆ " ปัญหาโลกแตกบ่นกันได้ทุกวัน แล้วก็ต้องอยู่ร่วมกันไปจนวันตาย ไม่รู้จะบ่นทำไม ... ทีนี้ เรามาลองทำความเข้าใจบุคคลต่างๆ ตามที่ศาสนาพุทธได้จำแนกไว้ดีกว่า
คนทั่วไปตามหลักพุทธศาสนาจะสามารถแยกได้ 6 แบบ ตามหลักคำสอนของ จริต 6 การที่เราได้เรียนรู้ว่าแต่ละจริต แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร อาจช่วยทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจเพื่อนร่วมงาน เข้าใจคนรอบข้างได้มากขึ้น ... ดังนั้นการที่เราจะเป็นใหญ่เป็นโตในสังคม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะศึกษาคนประเภทต่างๆ ดังนี้
ประเภทที่ 1 ราคะจริต
คนประเภทนี้สังเกตง่ายๆ คือส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เข้ากับคนง่าย ภาพลักษณ์ดี พูดเพราะ ปากหวานมาก(มักปากไม่ตรงกับใจ หันหลังให้มีโอกาสเลือดซิบๆ) คนประเภทนี้เจ้านายกรุณางดใช้วาจาหยาบคาย หรือด่าว่ารุนแรง เพราะเป็นคนที่อ่อนไหวมาก โดนด่าไปที มีหวังลาออก มักจะเป็นใหญ่เป็นโตไม่ได้ ถ้าได้เป็นใหญ่จะเป็นใหญ่โดยการดึงคนประเภทเดียวกันมาไว้รอบกาย เพราะชอบคำสรรเสริญเยินยอ แต่มักโตได้เพียงกลุ่มเล็กๆ(ขาดการรับผิด รับชอบอย่างเดียว)
ลักษณะ : บุคลิกดี มีมาด น้ำเสียงนุ่มนวลไพเราะ รักสวยรักงาม ติดในรูป รส กลิ่นเสียง ไม่ชอบคิด แต่เป็นคนช่างจินตนาการ เพ้อฝัน
จุดแข็ง : มีความประณีต อ่อนไหว ละเอียดอ่อน ช่างสังเกต เก็บข้อมูลเก่งง เป็นที่ชื่นชอบของคนรอบข้าง เก่งในการประชาสัมพันธ์หรืองานที่ต้องใช้บุคลิกภาพ
จุดอ่อน : ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่ได้ยาก คิดน้อยจึงไม่ค่อยมีเป้าหมายในชีวิต ไม่มีความเป็นผู้นำ ขี้เกรงใจ ขาดหลักการ มัวแต่บำเรอรูป รส กลิ่น เสียง ชอบพูดคำหวานแต่อาจไม่จริงใจ อารมณ์รุนแรง อิจฉาริษยา ชอบปรุงแต่ง
วิธีการปรับปรุงพัฒนา : ฝึกสมาธิ ใช้ธรรมะหาเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน หาเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน
ประเภทที่ 2 โทสะจริต
คนประเภทนี้เป็นคนพูดจากโผงผาง เด็ดขาด จนบางครั้งอาจดูเหมือนเผด็จการ แต่แปลกที่คนในจริตนี้ส่วนใหญ่เป็นใหญ่เป็นโต เป็น CEO แต่ต้องฝึกจนมีสมาธิ มีเมตตามาจึงจะไปถึงจุดนั้นได้(ผู้บรรยายกล่าวว่า "คนจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้ ต้องรู้ว่าองค์กรต้องการอะไร และเลือกทำ เพียงอย่างสองอย่างที่สำคัญที่สุด และจากนั้นเพียง วางคนให้ถูกที่") และต้องหมั่นวางเฉย อย่าจริงจังกับโลกมาก คนประเภทนี้เสี่ยง ที่จะเจ็บป่วยโรคภัยเบียดเบียนมากที่สุด
ลักษณะ : เป็นคนโกรธง่าย คาดหวังแล้วต้องได้อย่างที่คิด พูดตรงไปตรงมา ผิดเป็นผิดถูกเป็นถูก เจ้าระเบียบ เคร่งในกฏเกณ์ แต่งตัวสะอาดสะอ้าน ประณีต
จุดแข็ง : อุทิศให้กับการงาน มีระเบียบวินัยสูง ตรงเวลา วิเคราะห์เก่ง ตรงไปตรงมา มีความจริงใจ พึ่งพาได้ พูดคำไหนคำนั้น ไม่ค่อยโลภ
จุดอ่อน : อารมณ์ร้อน ไม่มีความเมตตา ดูแล้วไม่น่าคบหา ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ปากพาจน มีโรคภัยไข้เจ็บง่ายเพราะเครียด
วิธีการปรับปรุงพัฒนา : ต้องสังเกตดูอารมณ์ตนเองเป็นประจำ ฝึกมีเมตตามากๆ คิดก่อนพูด อย่าไปจริงจังกับโลกมาก เปิดใจให้กว้าง ออกกำลังกาย
ประเภทที่ 3 โมหะจริต
คนประเภทนี้มักสังเกตได้จากหน้าตา ลอยๆ เหม่อๆ ซึมๆ อยู่ไปวันๆ โดยลึกๆ เป็นคนคิดลบ ไม่ค่อยอ่านหนังสือ ไม่มีพิษมีภัยไม่ค่อยเป็นผู้นำ แต่จะเป็นผู้สนับสนุนหรือ back-office ชั้นยอด คนประเภทนี้ถ้าได้มาเป็นลูกน้องต้องหมั่นกระตุ้นสร้างแรงจูงใจบ่อยๆ เพราะองค์กรทุกองค์กร ขาดคนพวกนี้ไม่ได้(ปิดทองหลังพระ บางคนปิดไปที่ก้นพระ ขนาดอ้อมไปหลังพระ ยังมองไม่เห็น ...อิอิ)
ลักษณะ : ง่วงๆ ซึมๆ เบื่อๆ เซ็งๆ ดวงตาดูเศร้า พูดจาเบาๆ ยิ้มง่าย ไม่คอ่ยโกรธใคร ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบเป็นจุดเด่น ไร้จุดหมาย ไร้ความมุ่งมั่น
จุดแข็ง : ไม่ฟุ้งซ่าน เข้าใจอะไรง่ายและชัดเจน มักตัดสินใจอะไรได้ถูกต้อง ทำงานเก่งโดยเฉพาะงานประจำ ไม่ค่อยเครียด เป็นคนดีน่าคบ ไม่ทำร้ายใคร
จุดอ่อน : ไม่มีความมั่นใจ โทษตัวเองเสมอ หมกมุ่นกับตัวเอง ไม่จัดระบบความคิดเสมือนไม่มีความรู้ ไม่มีความเป็นผู้นำ สมาธิสั้น เบื่อง่าย ใจน้อย
วิธีการปรับปรุงและพัฒนา : ต้องตั้งเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน ฝึกสมาธิ จับความเคลื่อไหวของร่างกาย เล่นกีฬา แสวงหาความรู็เพิ่มเติม สร้างความแปลกใหม่ในชีวิตจะได้ไม่จำเจ
ประเภทที่ 4 วิตกจริต
คนประเภทนี้มักเป็นนักขายชั้นยอด เป็นที่ปรึกษา เป็นอาจารย์ วิทยากรขันเทพ แต่บางครั้ง อาจไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่ดี มองดูแล้วคนประเภทนี้คบได้ยาก คุยแต่ผลประโยชน์ ได้ดีกว่าก็ไป ฉะนั้น จึงอย่าลงทุนกับคนกลุ่มนี้มากนัก วิธีฝึกฝนสำหรับคนกลุ่มนี้จึงเน้นไปที่ การฝึกสมาธิแบบ อานาปานัสติ เน้นๆ ^^
ลักษณะ : พูดน้ำไหลไฟดับ ความคิดฟุ้งซ่านอยู่ในโลกความคิดไม่ใช่ในโลกความจริง มองโลกในแง่ร้าย คิดว่าคนอื่นจะมาเอาเปรียบ หน้าบึ้งไม่ค่อยยิ้ม เจ้ากี้เจ้าการ คิดว่าตัวเองเก่ง อยากรู้อย่างเห็น ผัดวันประกันพรุ่ง
จุดแข็ง : เป็นนักคิดชั้นยอด มองอะไรทะลุปรุโปร่งหลายชั้น เป็นนักพูดที่เก่ง จูงใจคนเก่ง เป็นผู้นำในหลายวงการ ละเอียดรอบคอบ เห็นความผิดเล็กน้อยที่คนอื่นไม่เห็น
จุดอ่อน : มองแต่จุดเล็ก ลืมภาพใหญ่ โลเลกลับไปกลับมา ไม่รักษาสัญญา มีแค่ความคิดไม่มีความรู้สึก มักตันสินใจผิดพลาด มักทะเลาะกับผู้อื่น เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น มีความทุกข์เพราะเห็นปัญหาแต่หาทางแก้ไม่ได้
วิธีปรับปรุงและพัฒนา : เลือกความคิด ฝึกสมาธิแบบ"อานาปานัสสติ" สร้างวินัย สร้างกรอบเวลา ฝึกมองภาพรวม มองโลกในแง่ดี พัฒนาสมองด้านขวาให้มากๆ
ประเภทที่ 5 ศรัทธาจริต
คนประเภทนี้อาจจะพบมากในประเทศไทย(รึปล่าว) บางคนอาจมองว่าคนประเภทนี้หัวรุนแรง หรือถ้ามองในแง่ดีอาจจะมองว่าคนประเภทนี้มีแน่วในในอุดมคติ แต่มักมีปัญหากับคนทั่วไปเพราะไม่ยืดหยุ่น ยึดหลักตัวกูของกู จึงต้องอาศัยหลัก กาลามสูตรเข้าช่วยคือ อย่าเชื่อเพราะเชื่อตามกันมา อย่าเชื่อเพราะเป็นศาสดา อย่าเชื่อเพราะมีเหตุผล และอย่าเชื่อเพราะเหมือนกับที่เราคิด
ลักษณะ : ยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคลและความเชื่อ ย้ำคิดย้ำพูดในสิ่งที่ตนเชื่อ คิดว่าตนเป็นคนดี ประเสริฐกว่าคนอื่น เป็นคนจริงจัง มีหลักการ
จุดแข็ง : มีพลังจิตสูงและเข็มแข็ง พร้อมที่จะเสียสละ ต้องการเปลี่ยนตนเองและพาสังคมสู่จุดที่ดีกว่าเดิม มีพลังในการขับเคลื่อน มีความเป็นผู้นำ
จุดอ่อน : หูเบาะ ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล โดนหลอกง่าย ยิ่งศรัทธาปัญญายิ่งลด จิตใจคับแคบ ไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง ไม่ประนีประนอม สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อเป้าหมายทีตนคิดไว้
วิธีปรับปรุงและพัฒนา : ใช้เหตุผลเหนือความเชื่อตามหลักกาลามสูตร ใช้ปัญญานำทางและใช้ัศรัทธาขับเคลื่อน เปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ ลดความยึดมั่นถือมั่น
ประเภทที่ 6 พุทธจริต
คนประเภทสุดท้ายนี้มักเป็นคนที่ดูดีที่สุดตามสายตาคนทั่วไป แต่มักไม่เป็นใหญ่เป็นโต เนื่องด้วยความที่ไม่เด็ดขาด และปล่อยวางกับชีวิตมากเกินไป ทำให้ขาดแรงกระตุ้นในการพัฒนาชีวิตและองกรณ์ให้ดีขึ้น ส่วนมากเป็นเป็นพนักงานที่ดีที่สุดขององค์กร เป็นเพื่อนที่ให้คำปรึกษาชั้นเยี่ยมประเภทที่ว่า แม่พระหรือศิราณีประจำบริษัทเลยทีเดียว
ลักษณะ : คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล มองเรื่องต่างๆ ตามความเป็นจริงไม่ปรุงแต่ง พร้อมรับความคิดต่างๆ ใฝ่เรียนรู้ ช่างสังเกต มีความเมตตา ไม่เอาเปรียบคน หน้าตาผ่องใสไม่ทุกข์
จุดแข็ง : สามารถรู้และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เปิดใจ ไม่จมกับอดีตและไม่กังวลอนาคต พัฒนาปรับปรุงตนเองเสมอ เป็นกัลยาณมิตร
จุดอ่อน : มีความเฉื่อยชา ชีวิตราบรื่นมากเกินไปหากเกิดวิกฤตอาจะเอาตัวไม่รอด ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่สามารถดึงดูดคนให้คล้อยตาม
วิธีปรับปรุงและพัฒนา : ถามตัวเองเสมอกับความพอใจในสภาพปัจจุบัน พัฒนาจิตใจ เพิ่มความเมตตาและทำประโยชน์ให้สัมมามากขึ้น
พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายๆ คนคงมองเห็นคนรอบกายแต่ละคนว่าเป็นจริตประเภทไหน ทุกๆ ประเภทมีข้อดีข้อเสียต่างๆ กัน ดังนั้น คนที่จะเป็นใหญ่เป็นโตได้ ต้องมองข้อด้อยของคนอื่น เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ แต่คนที่เก่งจริงๆ จะต้องดึงจุดเด่นของคนรอบข้างออกมาให้ได้ ...
แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืม อย่าลืมที่จะมองเข้าไปในจิตใจของตนเอง ว่าเราเป็นคนที่มีจริตประเภทไหน หลายๆ คนอาจบอกว่า เรามีหลายจริตรวมกัน ... นั่นก็จริง ... แต่ที่สุดแล้วแต่ละคนจะมีจริตที่โดดเด่นของตนเองเพียงอันเดียว ลองมองเข้าไปและคนหาจริตที่เป็นตัวเราที่แท้จริง และไม่โกหกตัวเอง จากนั้น หมั่นพัฒนาปรับปรุงตนเองเพื่อดึงจุดแข็งและลบจุดอ่อนออกไปจากตัวเราให้มากที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า "ก่อนจะเปลี่ยนแปลงคนอื่นเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน"